Friday, December 14, 2007

หม้อห้อมที่เมืองลาว

หม้อห้อมที่เมืองลาว

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปอยู่เวียงจันทน์ ๑๐ วัน ไปกับคน semeo-spafa ร่วมสัมมนากับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่มาจาก ๑๑ ประเทศ เพื่อเล่าเรื่องการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ทำกัน ก็เลยถือโอกาสไปตามดูว่าป่าห้อมที่เมืองลาวเป็นอย่างไรบ้าง จึงได้ภาพถ่ายมาอวดคนเมืองแพร่ ว่าถ้าจะส่งเสริมการปลูกห้อมในป่าน่าจะทำอย่างไร
หมู่บ้านที่ไปดูอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ประมาณ ๒๐๐ กม. สำหรับสภาพถนนแบบนั้น กะกันว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง แต่ข้าพเจ้าไปขึ้นรถโดยสารที่ท่ารถสีไค เวลาประมาณ ๙ โมง ต่อรถอีต้อกที่เมืองเฟือง ไปลงที่ท่าน้ำ รอเรือข้ามน้ำหลีก ไปหาบ้านนาแซง ถึงประมาณ บ่าย ๒ โมง รวมเวลาเดินทาง รอผู้โดยสารขึ้นรถ รอผู้โดยสารซื้อของ รอรถโดยสารอีกคันเอากระเป๋าผู้โดยสารอีกคนมาส่ง และรวมเวลานั่งกินเฝอรอต่อรถอีต็อก กลายเป็นเวลาทั้งหมด ๕ ชั่วโมง ก็นับว่าไม่เลว
นั่งพักสักครู่ ก็ขอให้พ่อ-แม่บุญตาพาไปชมต้นห้อม สองสามีภรรยาที่มีลูกชายคนโตชื่อบุญตา ก็พาเดินเข้าห้วยไปดูพื้นที่ที่ชาวบ้านปลูกต้นห้อมไว้ ข้าพเจ้าโชคดีที่ใส่รองเท้าฟองน้ำ กางเกงขากว้าง ก็เลยลุยได้สบาย
บ้านนาแซงเป็นหมู่บ้านที่มีลำห้วยกว่า ๒๐ สาย แทบทุกห้วย ชาวบ้านปลูกห้อมไว้เพื่อใช้ย้อม และระดมปลูกมากขึ้นเพื่อตัดใบขายให้กับคนย้อมห้อมในนครหลวงเวียงจันทน์ส่งเป็นน้ำห้อมด้วย เป็นใบด้วย ซึ่งต่อมาข้าพเจ้าได้มีโอกาสถามคนที่ซื้อว่า ซื้อเฉพาะน้ำไม่ได้หรือ เพราะการขนส่งใบนั้นชาวบ้านไม่ได้อะไรเหลือเลย เป็นค่าขนส่งไปหมด เธอก็ตอบว่า สูตรหม้อห้อมของชาวลาวนั้น ต้องผสมน้ำห้อมสดด้วย และ เธอก็ให้ชาวบ้านเป็นผู้กำหนดราคาเองแล้ว ชาวบ้านมีสิทธิที่จะขอขึ้นราคาตามความเหมาะสม
ต้นห้อมชอบที่ชุ่มชื้น ต้นห้อมจะตายหรือขึ้นไม่งามในที่ชุ่มแฉะเกินหรือแห้งแล้งเกิน ชาวบ้านนาแซงปลูกห้อมตามชายน้ำ ปักกิ่งชำไว้ใต้ร่มรำไรของเหล่าต้นไม้เหล่าต้นกล้วยป่า ถ้ารกมาก ก็ถางหญ้าเอาหญ้าช่วย บางที่ก็แคบยาวไปตามลำน้ำ บางที่ก็เป็นเวิ้งกว้างเข้าไป ตามพื้นที่ ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงสภาพในลำห้วย ของบ้านนาตองก่อนน้ำป่าหลาก

0 Comments:

Post a Comment

<< Home