Thursday, June 12, 2008

ห้อม คราม เบิก ชื่อวิทยาศาสตร์ และ เนื้อหา

วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ หลังจากสาธิตการสกรีนด้วยสีหม้อห้อมแล้ว ข้าพเจ้าได้ตามคณะคลัสเตอร์เฟริสท์คราฟท์ ไปเยี่ยมศูนย์เรียนรู้บ้านประนอม จึงได้ความรู้มาเผยแพร่ต่อ
ห้อม คราม เบิก ชื่อวิทยาศาสตร์
ข้อมูลได้เมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ จากศูนย์เรียนรู้ผ้าจกเมืองลองและการย้อมสีครามธรรมชาติ บ้านประนอม ซึ่งสนับสนุนโดย ศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน (ฝ้ายแกมไหม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ห้อม

ชื่อพฤกษศาสตร์ Strobilanthes cusia (Nees) Kuntze
ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE
ชื่อพื้นเมือง ห้อม, ห้อมเมือง (เหนือ)

ลักษณะทั่วไป
ห้อมเป็นไม้ล้มลุก มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ ๕๐-๑๐๐ เซนติเมตร ลำต้นและเหง้ากลมเป็นรูปทรงกระบอก บริเวณข้อโป่งพอง แตกกิ่งตามข้อ ใบเดี่ยวรูปวงรี หัวใบเรียว ท้ายใบแหลม ขอบใบหยักฟันเลื่อยละเอียด ใบมีสีเขียวมัน เรียงเป็นคู่อยู่ตรงข้ามกัน มีขนาดใหญ่เต็มที่ประมาณเท่าฝ่ามือ
ดอกรูปทรงคล้ายระฆัง เป็นดอกช่อออกที่ซอกใบ มีดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกสีม่วงเชื่อมกันเป็นหลอดโค้งงอเล็กน้อย ผลแห้งแตกได้เมล็ดแบนๆ สีน้ำตาล
ห้อมเจริญเติบโตได้ดีในป่าชื้น ชอบขึ้นบริเวณชื้น ๆ ใกล้ลำธาร หรือแหล่งน้ำที่มีอากาศเย็น ต้องการร่มเงามาก ไม่ชอบแสงแดดจัด ส่วนทากจะพบตามเขตป่าอนุรักษ์ที่มีต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้ม พบมากในภาคเหนือ

การขยายพันธุ์
ใช้กิ่ง ส่วนของลำต้นที่มีข้อ และราก สามารถตัด หรือ แยกหน่อไปปักชำ หรือใช้เมล็ดปลูกในที่ชื้นแฉะ ห้อมมีอายุไม่แน่นอน แล้วแต่สภาพภูมิอากาศในที่นั้นๆ โดยจะเติบโตดีในที่ที่มีน้ำชุ่มชื้นอยู่เสมอ หรือ ใกล้แหล่งน้ำ

ส่วนให้สี
ใช้ส่วนใบและลำต้น ห้อมอายุประมาณ ๑-๒ ปี สามารถเก็บไปใช้ประโยชน์ได้ ระยะการเก็บไม่จำกัด แล้วแต่จะออกแขนงช้าหรือเร็ว การเก็บถ้ามีมากก็เก็บทั้งกิ่ง ถ้ามีน้อยก็เด็ดเป็นใบๆ

ประโยชน์อื่น ๆ
เป็นยาพื้นบ้านของชาวล้านนา ใช้ใบต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ปวดศีรษะเนื่องจากหวัด เจ็บคอหลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นสมุนไพรบำรุงกำลัง รักษาแผลสด ห้ามเลือด แก้อักเสบ
ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอ จะใช้รากและใบเคี่ยวหรือต้มน้ำดื่ม แก้ปวดหลัง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร แก้ไข้ ปวดศีรษะ ตำพอกหรือคั้นน้ำทา รักษาแผลสด แผลถลอก ห้ามเลือด แก้อาการอักเสบจากพิษงู ตะขาบ แมงป่อง หรือ แมลงอื่น ๆ
คราม

ชื่อพฤกษศาสตร์ Indigofera tinctoria Linn.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE
ชื่อพื้นเมือง คราม

ลักษณะทั่วไป
จัดเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง อยู่ในพืชตระกูลถั่ว ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม ขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งร้อน พบในทวีปเอเซีย แอฟริกา ลำต้นสูง ๑-๑.๒๐ เมตร อายุประมาณ ๒-๓ ปี กิ่งก้านแตกสาขาเป็นพุ่ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ดอกสีเหลือง ออกดอกตามโคนก้านของใบ เป็นช่อ ๆ โดยเฉพาะโคนก้านใบที่แตกออกจากลำต้น ดอกและฝักคล้ายโสน แต่มีขนาดเล็กกว่า มีสีม่วงอมชมพู เมล็ดเป็นฝักคล้ายฝักถั่วเขียว แต่เล็กกว่า ออกเป็นกระจุก
ครามขึ้นได้ดีในที่ดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ในที่ดอนซึ่งแสงแดดส่องถึง มีร่มเงาบ้าง หรือ เปิดโล่ง

การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด หว่านลงในแปลง หรือ หยอดเมล็ดเป็นหลุมเล็ก ๆ จะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือ มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฝนแรกของปี

ส่วนให้สี
ใช้ต้น และใบ สามารถเก็บไปใช้ได้ในช่วงอายุประมาณ ๔ เดือน หรือ ช่วงกำลังออกดอก สังเกตจากใบครามจะมีสีเขียวเข้ม และยอดเริ่มหงิกงอ มักจะเก็บเกี่ยวตอนเช้าตรู่ เพราะเชื่อกันว่าจะได้เนื้อครามมากกว่าช่วงอื่น สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ ๓ ครั้ง แต่ละครั้งจะห่างกัน ๓-๔ เดือน ต้นครามจะมีอายุใช้งานประมาณ ๒-๓ ปี ขึ้นอยู่กับพื้นที่และวิธีการปลูก

ประโยชน์อื่น ๆ
ใช้เป็นยาช่วยลดไข้ ถ้าเป็นไข้สูงโดยเฉพาะไข้เลือดออก จะเอาครามผสมข้าวมาตำหรือบดให้ละเอียดแล้วห่อด้วยผ้าขาวบางเอามาประคบไว้ที่ฝ่าเท้าใช้ผ้ามัดไว้ ถ้าไข้ลดแล้วและเอาผ้าพันออกจะเห็นเป็นจุดดำๆ บนฝ่าเท้า
เนื่องจากครามจัดอยู่ในพืชตระกูลถั่ว จึงเป็นปุ๋ยพืชสดที่ปลูกเพื่อบำรุงดินได้ดี


เบิก

ชื่อพฤกษศาสตร์ Marsdenia tinctoria
ชื่อวงศ์ ASCLEPLADACEAE
ชื่อพื้นเมือง เบือก (อิสาน) ครามเถา ย่านคราม (ใต้)

ลักษณะทั่วไป
เป็นไม้เถาเลื้อยหรือไม้พุ่มเลื้อย ตามปกติสูงถึง ๕ เมตร ใบเดี่ยวอยู่ตรงข้ามกัน มีสีเขียวเข้ม มีขนปกคลุม ใบเรียวยาว หรือเป็นรูปไข่กึ่งรูปหัวใจ โคนใบกลมมน ปลายใบเรียวแหลม ดอกมีขนาดเล็ก สีเหลือง อยู่รวมเป็นกระจุก ดอกออกตามซอกใบ ออกเป็นช่อคล้ายซี่ร่ม เมล็ดมีขนติดเป็นกระจุก มีหลายเมล็ด
พืชชนิดนี้กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่กว้าง พบทั่วไปในแถบอินเดีย ตอนใต้ของจีน พม่า ไทย เวียตนาม จนถึงหมู่เกาะของอินโดนีเซีย นับเป็นพืชที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาพพื้นที่ที่ครามชนิดนี้เจริญได้ดี คือ บริเวณที่มีดินเปียกชื้นมากๆ

การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์โดยการตอน เพาะชำ หรือทาบกิ่ง

ส่วนให้สี
ใช้ใบ ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวมาผลิตสีครามได้ตลอดปี เป็นระยะเวลานานประมาณ ๕ ปี

ประโยชน์อื่น ๆ
ใบมีสรรพคุณทางยาพื้นบ้าน แก้อาการผิดปกติทางลำใส้
ใช้ภายนอกเพื่อกระตุ้นการงอกของผม ใช้ย้อมผมให้เป็นสีดำ
ในบังคลาเทศ ใช้สารสกัดจากต้นเบิกทำให้แท้งลูก

Labels:

3 Comments:

Anonymous Anonymous said...

สวัสดีค่ะ
ชื่นชอบในผลงานการออกแบบ และเรื่องราวของ แก้ววรรณา ที่จะช่วยรักษาขนบธรรมเนียม และเอกลักษณ์ที่จังหวัดของเรา ดิฉันจะเป็นอีกแรงที่จะช่วยผลักดันผ้าหม้อห้อม และผลิตภัณฑ์พื้นบ้านไปสู่สากล
ตอนนี้ดิฉันกำลังมีโปรเจค กับหุ้นส่วนชาวแคนาดา ในเรื่องผลิตภัณฑ์จากผ้า organic cotton เทคนิค indigo dye และคงต้องเข้าไปขอเยี่ยมชมที่โชว์รูมของคุณวุฒิไกร ประมาณเดือนหน้า จะสะดวกมั้ยคะ
ดิฉันเองเพิ่งเริ่มทำ blog ที่เกี๋ยวกับ indigo dye ในเอเชีย จึงต้องเพิ่ม link ของแก้ววรรณาเข้าไปด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

9:08 AM  
Blogger Indigo Heritage said...

http://indigoway.blogspot.com
ขอโทษค่ะ เพิ่งทำเมื่อวาน ยังไม่ค่อยเรียบร้อย
อัญชัญ

9:19 AM  
Anonymous วุฒิไกร said...

ดีจังเลย ยินดีครับ

6:04 AM  

Post a Comment

<< Home