Wednesday, September 10, 2008

ถึงตอนที่ชีวิตถูกหม้อห้อมลิขิต

มี ๒ เรื่องที่อยากจะเล่า เกี่ยวกับหม้อห้อมลิขิต ให้ญาติมาเจอกัน
เหตุที่ใช้คำว่า หม้อห้อมลิขิต ก็เพราะเป็นด้วยความเกี่ยวพันการใฝ่รู้ในเรื่องหม้อห้อม
รายแรก เป็นญาติที่จากกันมาถึง ๓๐ ปี รายที่ ๒ จากกัน ๑๐ ปี

ป้าหมัย เป็นชาวลาวสะหวันเขต เจอกับสามีตอนที่ฝ่ายชายไปทำงานก่อสร้าง พองานจบโครงการก็ติดตามสามี กลับมาที่บ้านทุ่งโฮ้ง ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย และ ขาดการติดต่อกับครอบครัวพ่อแม่ตั้งแต่นั้นมา ในปีนี้ คลัสเตอร์หม้อห้อมจังหวัดแพร่ ได้มีโครงการที่จะไปเยี่ยมชมการผลิตผ้าย้อมครามที่สะหวันเขต ชื่อ “ละหา” ประจวบพอดีกับ “มาดามสง” ชาวลาวเจ้าของกิจการนั้น ได้ขึ้นมาทำธุระที่จังหวัดน่าน มีโปรแกรมมาแวะชมการย้อมหม้อห้อมที่บ้านครูเหงี่ยม บ้านทุ่งโฮ้ง ป้าหมัยซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มบ้านทุ่งโฮ้งก็มาร่วมสาธิตด้วย ก็มีการแนะนำตัวกันว่าตนเองมาจากสะหวันเขตในสมัย ๓๐ ปีก่อน ตอนนี้อยู่กับลูกๆ เมื่อไล่เรียงกันไปมา ปรากฏว่าเป็นญาติกัน บรรยากาศแห่งความปิติยินดีก่อขึ้นทันใด พวกที่ชุมนุมอยู่ด้วยกันในที่นั้นก็ปลาบปลื้มไปด้วยกัน เป็นน้ำหูน้ำตาหลั่งไหล

อ้าต เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต ได้สมัครเข้าประกวดออกแบบแฟชั่นของบริษัท ซีซีดับเบิ้ลโอ ในหัวข้อ อินดิโก ออฟเซสชั่น ที่จัดโครงการขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน จาก ๓๐ คนที่สมัคร อ้าตเข้ารอบ ๑๐ คนร่วมกับไผ่ ทั้งสองคนได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ ให้มาย้อมที่แก้ววรรณา หม้อห้อมธรรมชาติที่จังหวัดแพร่ ซึ่งอาจารย์สุปรียาสอนด้านแฟชั่น ในมหาวิทยาลัยรังสิต เคยร่วมงานแฟชั่นหม้อห้อมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในปี ๒๕๔๘ และเห็นพัฒนาการของหม้อห้อมแก้ววรรณามาตลอด
ประมาณกลางเดือน สิงหาคม อ้าตกับไผ่ จึงเดินทางมาที่แพร่ เพื่อดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง โดยพยอมศิลปินผู้ย้อมมือหนึ่งของเราเป็นผู้ดูแล ในวันนั้นมีเหตุให้ยางรถพยอมแตก จึงต้องยืมรถเครื่องของลุงวีไปรับเด็กทั้งสองจากที่พัก เมื่อกลับมาจอดรถที่ใกล้ซุ้มขายก๋วยเตี๋ยวของลุงวี พออ้าตเห็นหน้าลุงวี ก็เรียก “ลุงวี” กลายเป็นว่าทั้งสองคนลุงหลานไม่ได้เจอกันมานานนับสิบปี ปลายเดือนอ้าตจึงให้แม่ขับรถมาส่งในการทำงานที่ค้างไว้

การประกาศผลในวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๑ ไผ่ได้รางวัลชนะเลิศ อ้าตได้รางวัลอีโคเฟรนลี่

อย่างนี้แล้วจะไม่เรียกว่า หม้อห้อมลิขิตได้อย่างไร

Labels:

0 Comments:

Post a Comment

<< Home