Friday, September 22, 2017

เราเรียนรู้ร่วมกันเรื่องหม้อห้อม



เราเรียนรู้ร่วมกันเรื่องหม้อห้อม
เจอหัวเรื่องแบบนี้ หลายคนอาจถามว่า "ทำไมล่ะ?"  เพราะคำว่าหม้อห้อมเป็นเครื่องหมายของเมืองแพร่ไปแล้ว   อย่างเดียวกับเรื่องไม้สัก  เวลาที่คนไทยพูดถึงไม้สักก็คิดถึงเมืองแพร่   หรือ  เวลามาเมืองแพร่แล้วจะไปไหน   ร้อยละ 90 จะบอกว่า พระธาตุช่อแฮ  ....
"ทำไมล่ะ?"  หม้อห้อมมัดย้อมฮิตมากในช่วงปีสองปีมานี้   ผมก็ดีใจไปด้วย เพราะเสื้อยืดหม้อห้อมมัดย้อมกลายเป็นเสื้อทีมของคนแพร่ไปแล้ว  ทีมครอบครัว ทีมที่ทำงาน ใส่เสื้อเหมือนๆ กันเวลาไปเที่ยวด้วยกัน  เก็บความสุขความทรงจำด้วยกัน   บางงานแต่ง  ก็ใช้ธีมหม้อห้อม   หรือ แม้แต่ไปสัมมนา อบรม  ก็ใส่เสื้อมัดย้อมเป็นทีม  ก็ถือว่าเป็นสัตตยาบันการร่วมปณิธานเดียวกันภายใต้สัญญลักษณ์หม้อห้อม  หม้อห้อมนี่นี้เป็นพยาน   น่อ
ทำไมเรารู้สึกทันสมัยเมื่อได้ใส่หม้อห้อมมัดย้อม  ผมว่า  ก็เพราะเราไม่ได้รับรู้มาก่อนว่าเรามัดย้อมหม้อห้อมก็ได้  ลายง่ายๆ ก็ดูดีได้  ยิ่งเรียนรู้วิธีการมัดที่ซับซ้อนก็ยิ่งตื่นเต้นเวลาที่เห็นผลงานออกมาหลังจากย้อม  เป็นความประทับใจในศิลปะที่แต่ละคนได้สร้างสรรค์จินตนาการลงไป
ผมสนใจหม้อห้อมมากตอนที่ต้องนำสินค้าท้องถิ่นไปขายในงานมหาวิทยาลัย  เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว  ความที่เราอยู่ในเมืองหม้อห้อม ก็เข้าใจว่า สินค้านี้น่าจะขายดี  เพราะแปลก  แต่ผลที่ได้คือ ขายได้ไม่กี่ตัว  ต้องเอาขึ้นรถทัวร์กลับมาคืนผู้ผลิตซึ่งเป็นพี่สาวของเพื่อน  ที่บ้านพระหลวง  หมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดแพร่ที่มีชื่อเสียงด้านหม้อห้อม  ตอนนั้นผมจึงเรียนรู้ว่า การตลาดเรื่องหม้อห้อมนอกจังหวัดแพร่นั้น เป็นอีกอย่าง  ไม่ใช่ใครๆ ก็ใช้หม้อห้อมแบบคนแพร่   แต่ก็นั่นแหละครับ  ตอนนั้นหม้อห้อมก็จะแบบไม่กี่อย่าง  ส่วนมากเป็นแบบเสื้อกุยเฮง  คอกลมแบะหน้าติดกระดุม หรือ ผูกเชือก นี่ก็เดิ้นแล้ว
ได้สัมผัสเรื่องหม้อห้อมอย่างจริงจัง ตอนที่จะหากินกับมันนี่แหละ  ตั้งความหวังสูงว่าจะทำการตลาดด้วยความฮิตนี่แหละ  แต่ก็ต้องรู้จักทำใจตั้งแต่ตั้งต้น  เพราะทุกอย่างต้องเรียนรู้ใหม่หมด  และแต่ละอย่างก็มีความ "แท้" ที่แตกต่าง สร้างความท้าทายมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ให้กับตัวเอง 
ผมโดนการเปลี่ยนสีของเส้นด้ายตอนลงหม้อย้อมสะกดซะอยู่หมัด  มันน่าทึ่งจริงๆ ที่เห็นด้ายขาวเป็นเหลือง เขียว เป็นสีฟ้า และเป็นสีน้ำเงินถ้ายิ่งย้อมมากขึ้น    ผมปรับเปลี่ยนจากแนวคิด "ย้อมที่หมู่บ้าน" มาตั้งโรงย้อมที่ร้าน  เพราะเรียนรู้ว่าสังคมบ้านเราเปลี่ยนไป  เราทันสมัยกันขึ้น  ไม่ได้คุ้นชินกับการย้อมธรรมชาติแล้ว  ผมนำครามจากอีสานมาฝึกตั้งหม้อย้อม โดยมีมือดีที่มีความพากเพียรมาเป็นขุนพลหลัก   เจ้าขุนพลหลักนี่แหละ ที่เรียนรู้เรื่องหม้อห้อมแล้วมาถ่ายทอดให้ผมอีกที  ก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง   แต่เธอ ขุนพลคนนั้น เรียนรู้ด้วยตัวเอง จนทำได้  และใช้หม้อห้อมสอนเรื่องการใช้ชีวิตกับปัจจุบัน
ประมาณเกือบ 20 ปี ที่ทำหม้อห้อมจนหม้อห้อมกลายมาเป็นวาระของจังหวัดแพร่  อีกครั้งหนึ่ง   เราตั้งความหวังไว้ว่าให้เมืองแพร่เป็น "ฮับหม้อห้อม"  ฮับ หรือ Hub ที่หมายถึงศูนย์กลางของหม้อห้อม  ซึ่งถึงตอนนี้ เราก็เป็นจริงๆ  ใครอยากได้ก็มาที่นี่ ทั้งในประเทศ หรือ ต่างชาติต่างภาษา  แต่นอกจากคนผลิตเสื้อหม้อห้อมแล้ว จะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่รู้ว่า ผ้าหม้อห้อมที่แพร่นี่  โรงงานเขาผลิตให้ขายเฉพาะที่แพร่  ถ้าซื้อที่อื่นก็เนื้ออื่น สีอื่นย้อม  จนช่วงปี สองปีนี้ ได้ข่าวว่า คนอีสานมาซื้อเคมีหม้อห้อมที่แพร่ (  เคมีหม้อห้อม หมายถึงสารสังเคราะห์ที่ใช้ในการย้อมหม้อห้อม) และ ตอนนี้ก็มีสีสังเคราะห์อีกชนิดหนึ่ง ที่เรามาย้อมกันง่ายๆ แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งผมคงต้องหาความรู้ต่อว่า มันเป็นอะไร  ใช่ อินดิโก (Indigo) หรือ หม้อห้อมมั้ย? มีสูตรเคมีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกันไหม?
ต่อให้คนจังหวัดอื่นทำหม้อห้อมมากขึ้น  ผมก็ไม่กลัวว่าคนทำหม้อห้อมเมืองแพร่จะลำบาก  เพราะยิ่งทำมากจังหวัดก็ยิ่งมีลูกค้ามาก  และ สินค้าก็จะพัฒนาทั้งรูปแบบ และวิธีการผลิตมากขึ้น  
ตอนนี้  สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเห็นในเมืองแพร่คือ  คนย้อมหม้อห้อมทั่วไปเรียนรู้ที่จะนำเนื้อห้อมธรรมชาติ  มาผสมใช้กับหม้อห้อมสังเคราะห์ที่ใช้กันส่วนมาก  เพื่อให้เมืองแพร่มีป่ามากขึ้น (เพราะหม้อห้อมต้องอาศัยป่า จึงปลูกได้)  ให้คนปลูกมีแรงจูงใจพากันปลูกมากขึ้น  ถ้ามีความต้องการใช้มากขึ้น   และเพื่อลดอันตรายจากเคมีหม้อห้อม ทั้งต่อสุขภาพตนเอง รวมถึงลดสิ่งแปลกปลอมที่จะไปสู่สภาพแวดล้อม
เนื้อห้อมธรรมชาติที่ผลิตในปีนี้  ได้เพียงหลัก 1,000 กิโลกรัม นับว่าเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนหม้อห้อมสังเคราะห์ที่เข้ามาใช้ในเมืองแพร่   เรามาเรียนรู้ด้วยกัน  ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรที่คนแพร่จะร่วมใจกันแค่ไหน  ....  คนแพร่ช่วยคนปลูกห้อมแค่ไหน...
วันนี้ผมได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า แพร่คราฟท์   เป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของผู้ประกอบการหัตถกรรม เพื่อพัฒนาตัวเองและพัฒนาสินค้าให้เป็นของจังหวัดแพร่ โดยใช้กิจกรรมเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้  วันนี้เราถ่ายภาพสินค้าเพื่อนำไปจัดแสดงในงานนิทรรศการเชียงใหม่ดีไซน์วีค ที่จะจัดในเดือนธันวาคม 2560 ถัดจากที่เราจัดงาน "แพร่คราฟท์" วันที่ 2-3 ธันวาคม 2560 ไปอีก 2-3 วัน
ผมเห็นงานที่แปลกไปจากหม้อห้อมเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย  ที่มัดย้อมก็พยายามพัฒนางานตัวเองให้แตกต่าง  ที่ทอ  ที่ปัก  ก็แปลกทั้งรูปแบบ  แปลกทั้งวัสดุ  และแปลกใจที่ได้ทราบว่า มีคนแปลกๆ มากมายที่นิยมชมชอบงานของพวกเขา 
ลูกค้าของกลุ่มนี้แตกต่างกันแต่ละรายจะสนใจงานตามประเด็นที่ตนมีความสนใจเป็นพื้นฐาน  พัฒนาขึ้นมาจากการดูแค่รูปลักษณ์  มาเป็นความแตกต่าง   ความเป็นสินค้าชุมชน  ความเป็นสินค้าที่ผ่านการออกแบบร่วมสมัย  ความเป็นสินค้าที่สื่อแนวคิดทางสังคมต่าง ๆ  ซึ่งการเลือกใช้สินค้าของคนเหล่านี้  บ่งบอกตัวตน บ่งบอกรสนิยม ว่าพวกเขาพิถีพิถันในการเลือกใช้เลือกอยู่ เลือกกิน

การได้รับรู้เรื่องลูกค้าที่แตกต่าง  สร้างความอยากรู้ให้ผมมากขึ้น  แต่ที่อยากรู้มากกว่าก็คือ ผมอยากรู้ว่าคนหนุ่มๆ พวกนี้ ในแพร่คราฟท์นี่  เขาจะคราฟท์เมืองแพร่ไปทางไหน  อย่างไร.... มาเรียนรู้ร่วมกันครับ...