กงสุลใหญ่ ประเทศญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่
ร่วมๆ 2 เดือนก่อน ที่ทราบว่าจะได้ต้อนรับท่านกงสุลใหญ่ ภรรยา และ รองกงสุล เรา ทางแก้ววรรณาหม้อห้อมธรรมชาติ ก็คิดว่าจะให้ท่านทำอะไร
วางแผนไว้หลวมๆ คือ เล่าเรื่อง ชวนย้อม ชวนสกรีน ซึ่ง 3-4 วันก่อนเมื่อวาน พยอมต้องปรุงหมึกสกรีน ขณะที่ บำรุงหม้อย้อมให้แข็งแรงมาตั้งแต่วันที่ทราบข่าว ทำให้หม้อมีคุณภาพดีมาก ย้อมสีได้สวย เหมาะสำหรับเส้นด้ายปั่นมือที่ได้มาจากหลวงพระบางเมื่อหลายปีก่อน ส่งมาทางรถโดยสาร หลวงพระบางลงที่น่าน (ไม่รู้ว่าตอนนี้มีรถเที่ยวนี้ไหม)
การเล่าเรื่องถึงหม้อห้อม เริ่มตั้งแต่ที่คณะนั่งในร้านกาแฟช่อแฮสตูดิโอ บี ธีรวุธ พาเข้าเรื่องได้อย่างไรไม่รู้ ทำให้เราได้โอกาสเล่าถึงเรื่องคราฟท์ ต่อด้วยหม้อห้อม ที่มีผู้ปลูกอินดิโกรายใหญ่ในโอกินาวามาเยี่ยมแก้ววรรณาเมื่อหลายปีก่อน แล้วเราพาไปดูแปลงปลูกลุงยกบ้านน้ำจ้อม (ซึ่งเทียบไม่ได้กับสเกลงานที่โอกินาวาของเขา มันใหญ่มาก ที่เขาเปิดให้ดูในเฟซบุค)
แล้วมาเล่าให้อีกทีตอนชวนดูน้ำห้อมที่ได้จากนาตอง 50 กิโลกรัม มูลค่า 17,000 บาท (ตรงนี้ก็ชวนให้นึกถึงเมล็ดกาแฟ ไลท์โรส ที่เนได้มาจากแปลงปลูกที่นาตอง ว่าเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่เราได้เนื้อห้อมมา) และบอกว่า ถ้าให้เข้มแบบที่เห็นเส้นด้ายในราว ก็จะเปลืองราว 1 กิโลกรัมน้ำห้อม ต่อ 1 กิโลกรัมเส้นด้ายหรือผ้าผืนที่จะย้อมนั้น
คณะลงรถที่ใต้ต้นฉำฉา ก็พาเดินมาที่โรงย้อม ผ่านป้าย "เราเชื่อในการย้อมธรรมชาติ 100 %" ก็เล่าให้ฟังว่าในกระบวนการย้อม เราใช้ธรรมชาติทั้งหมด ต่อด้วยชวนดูภาพห้อม คราม เบิก
ท่านกงสุลใหญ่ ถามว่าทำไมถึงเน้น "ห้อม" ตอบไปว่า ประเด็นที่ 1 คือ เป็นคำแรกของคำขวัญเมืองแพร่ ประเด็นที่ 2 เป็นหนึ่งในเครื่องบ่งชี้ถึงความหลากหลายทางชีวภาพของจังหวัดแพร่ ประเด็นที่ 3 เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่คนรุ่นก่อนส่งต่อมาให้คนสมัยเราได้สำเหนียกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มาเป็นปัจจัยสี่
ท่านถามอีกว่า "จริงไหมที่หม้อห้อมกันยุง" ตอบไปว่า "ยังไม่เคยเห็นเอกสารนี้ หรือ งานวิจัยในเรื่องนี้"
พาท่านชมแผ่นภาพเล่าเรื่องที่เราประมวลภาพตั้งแต่ต้นห้อม ดอกห้อม การทำน้ำห้อม ย้อม ทอ เย็บ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เรามาคุยกันยาวเรื่องเครื่องปรุงหม้อย้อม ที่เป็นพืชพรรณ ผลไม้ (สัปรด กล้วย อ้อย มะเฟือง มะกรูด เปลือกเพกา ท่อนอ้อย) ที่ต้องมาปรุงให้สภาพกรดด่างพร้อมย้อม (ตรงนี้ไม่ได้บอกว่ากี่วันถึงจะย้อมได้ แต่เข้าใจว่าท่านเคยได้ข้อมูลนี้แล้วล่ะ)
ตอนเดินกลับมาที่ร้านอาหาร เราเน้นอีกประเด็นหนึ่งว่า มันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้คนอยู่กับป่าต้องอยู่ได้กับทรัพยากรในป่า
การพาทำกิจกรรมเป็นไปอย่างธรรมชาติ พยอมได้เตรียมล้างบล้อกสกรีนไว้แล้ว
ซีกหนึ่งเป็นลายเส้นเล่าเรื่องราวการทำหม้อห้อม ที่รวีวาดลายเส้นแล้วเราเอาไปให้ร้านนายเอกทำบล้อก ตั้งแต่เก็บห้อม ทำเนื้อห้อม ย้อม ทอผ้า เย็บ ที่เรามาทำเป็นเหล็กดัดเป็นประตูรั้ว ส่วนหนึ่งเป็นภาพเดียวกันที่เรามาทำถุงกระดาษ วาดขึ้นฝา
อีกซีกหนึ่งเป็นลายเรขาคณิต สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม บล้อกชุดนี้เคยทำเป็นหมอนอิง สวยมาก
ก่อนที่จะสกรีน ท่านกงสุลใหญ่ได้ลองย้อมฝ้าย ตอนนี้ วฒก ต้องช่วยภรรยาท่านสกรีนจึงไม่ได้ถามว่าท่านรู้สึกอย่างไรตอนมือสัมผัสกับเส้นด้ายที่ค่อยๆ เปลี่ยนสี
เราเล่าว่าเส้นด้ายที่เห็นบนราวต้องกี่รอบ ภรรยาท่านกงสุลกลัวเราไม่เข้าใจ ว่า 6 รอบ คืออะไร ท่านใช้คำว่า รอบหนึ่ง ย้อม ทำให้แห้ง (dye then dry) รอบสอง ย้อม ทำให้แห้ง รอบสาม ย้อม ทำให้แห้ง ... รอบหก ย้อม ทำให้แห้ง
บรรยากาศที่โรงย้อมเพลิดเพลินมาก มาที่ห้องผ้าก็เพลิดเพลิน เราเปิดตู้ผ้าให้ดูก่อน แต่ท่านไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ชวนมานั่งดูเอกสารที่ญี่ปุ่นทำ เป็นนิตยสารที่ลูกค้าคือคนญี่ปุ่นในประเทศไทย ที่ตอนนี้หยุดไปแล้ว ดูไกด์บุคญี่ปุ่น และเล่าเรื่องหนังสือ ผ่อบ้านหันเมือง เล่มโต บอกว่าเราอยากเห็นหนังสือเล่มโตๆ แบบนี้ที่รวมรูปภาพและผลงานของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ๆ
ท่านกงสุลใหญ่ลองเสื้อตัวหนึ่งที่ลายเหมือนตัวที่ วฒก ใส่ ถามว่ามีตัวโตกว่านี้ไหม ที่สุดแล้วได้กางเกงขายาว แบบเดียวกันกับที่รองกงสุลได้ กางเกงเซ็ทนี้เย็บไว้เพียง 6 ตัว (เราใช้เอง 2 ตัว) ภรรยาท่านกงสุลใหญ่ได้เสื้อกับผ้าคลุมไหล่ สแกนโอนเงิน
เอาของใส่ถุงกระดาษ และตามด้วยแผ่นพับเล็กๆ
ตอนที่ ลากันที่วัดสูงเม่น รองกงสุลเอ่ยคำว่า แล้วจะบอกคนญี่ปุ่นมาเที่ยว เราฟังตอนนั้นก็ขอบคุณแทนคนแพร่ แต่ตอนที่เขียนนี้ ก็ได้แต่หวังว่าขอให้ท่านเอ่ยถึงแก้ววรรณาด้วยเถอะ
1.ท่านฮิกุจิ เคอิจิ
กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่
2 ท่านคาโอริ ฮิกุจิ
ภริยา กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่
3.ท่านชินเซกิ ฮิโรมิ
รองกงศุลญี่ปุ่น
ณ นครเชียงใหม่
<< Home