Thursday, June 12, 2008

ห้อม คราม เบิก ชื่อวิทยาศาสตร์ และ เนื้อหา

วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ หลังจากสาธิตการสกรีนด้วยสีหม้อห้อมแล้ว ข้าพเจ้าได้ตามคณะคลัสเตอร์เฟริสท์คราฟท์ ไปเยี่ยมศูนย์เรียนรู้บ้านประนอม จึงได้ความรู้มาเผยแพร่ต่อ
ห้อม คราม เบิก ชื่อวิทยาศาสตร์
ข้อมูลได้เมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ จากศูนย์เรียนรู้ผ้าจกเมืองลองและการย้อมสีครามธรรมชาติ บ้านประนอม ซึ่งสนับสนุนโดย ศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน (ฝ้ายแกมไหม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ห้อม

ชื่อพฤกษศาสตร์ Strobilanthes cusia (Nees) Kuntze
ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE
ชื่อพื้นเมือง ห้อม, ห้อมเมือง (เหนือ)

ลักษณะทั่วไป
ห้อมเป็นไม้ล้มลุก มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ ๕๐-๑๐๐ เซนติเมตร ลำต้นและเหง้ากลมเป็นรูปทรงกระบอก บริเวณข้อโป่งพอง แตกกิ่งตามข้อ ใบเดี่ยวรูปวงรี หัวใบเรียว ท้ายใบแหลม ขอบใบหยักฟันเลื่อยละเอียด ใบมีสีเขียวมัน เรียงเป็นคู่อยู่ตรงข้ามกัน มีขนาดใหญ่เต็มที่ประมาณเท่าฝ่ามือ
ดอกรูปทรงคล้ายระฆัง เป็นดอกช่อออกที่ซอกใบ มีดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกสีม่วงเชื่อมกันเป็นหลอดโค้งงอเล็กน้อย ผลแห้งแตกได้เมล็ดแบนๆ สีน้ำตาล
ห้อมเจริญเติบโตได้ดีในป่าชื้น ชอบขึ้นบริเวณชื้น ๆ ใกล้ลำธาร หรือแหล่งน้ำที่มีอากาศเย็น ต้องการร่มเงามาก ไม่ชอบแสงแดดจัด ส่วนทากจะพบตามเขตป่าอนุรักษ์ที่มีต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้ม พบมากในภาคเหนือ

การขยายพันธุ์
ใช้กิ่ง ส่วนของลำต้นที่มีข้อ และราก สามารถตัด หรือ แยกหน่อไปปักชำ หรือใช้เมล็ดปลูกในที่ชื้นแฉะ ห้อมมีอายุไม่แน่นอน แล้วแต่สภาพภูมิอากาศในที่นั้นๆ โดยจะเติบโตดีในที่ที่มีน้ำชุ่มชื้นอยู่เสมอ หรือ ใกล้แหล่งน้ำ

ส่วนให้สี
ใช้ส่วนใบและลำต้น ห้อมอายุประมาณ ๑-๒ ปี สามารถเก็บไปใช้ประโยชน์ได้ ระยะการเก็บไม่จำกัด แล้วแต่จะออกแขนงช้าหรือเร็ว การเก็บถ้ามีมากก็เก็บทั้งกิ่ง ถ้ามีน้อยก็เด็ดเป็นใบๆ

ประโยชน์อื่น ๆ
เป็นยาพื้นบ้านของชาวล้านนา ใช้ใบต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ปวดศีรษะเนื่องจากหวัด เจ็บคอหลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นสมุนไพรบำรุงกำลัง รักษาแผลสด ห้ามเลือด แก้อักเสบ
ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอ จะใช้รากและใบเคี่ยวหรือต้มน้ำดื่ม แก้ปวดหลัง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร แก้ไข้ ปวดศีรษะ ตำพอกหรือคั้นน้ำทา รักษาแผลสด แผลถลอก ห้ามเลือด แก้อาการอักเสบจากพิษงู ตะขาบ แมงป่อง หรือ แมลงอื่น ๆ
คราม

ชื่อพฤกษศาสตร์ Indigofera tinctoria Linn.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE
ชื่อพื้นเมือง คราม

ลักษณะทั่วไป
จัดเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง อยู่ในพืชตระกูลถั่ว ลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดย่อม ขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งร้อน พบในทวีปเอเซีย แอฟริกา ลำต้นสูง ๑-๑.๒๐ เมตร อายุประมาณ ๒-๓ ปี กิ่งก้านแตกสาขาเป็นพุ่ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ดอกสีเหลือง ออกดอกตามโคนก้านของใบ เป็นช่อ ๆ โดยเฉพาะโคนก้านใบที่แตกออกจากลำต้น ดอกและฝักคล้ายโสน แต่มีขนาดเล็กกว่า มีสีม่วงอมชมพู เมล็ดเป็นฝักคล้ายฝักถั่วเขียว แต่เล็กกว่า ออกเป็นกระจุก
ครามขึ้นได้ดีในที่ดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ในที่ดอนซึ่งแสงแดดส่องถึง มีร่มเงาบ้าง หรือ เปิดโล่ง

การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด หว่านลงในแปลง หรือ หยอดเมล็ดเป็นหลุมเล็ก ๆ จะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือ มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฝนแรกของปี

ส่วนให้สี
ใช้ต้น และใบ สามารถเก็บไปใช้ได้ในช่วงอายุประมาณ ๔ เดือน หรือ ช่วงกำลังออกดอก สังเกตจากใบครามจะมีสีเขียวเข้ม และยอดเริ่มหงิกงอ มักจะเก็บเกี่ยวตอนเช้าตรู่ เพราะเชื่อกันว่าจะได้เนื้อครามมากกว่าช่วงอื่น สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ ๓ ครั้ง แต่ละครั้งจะห่างกัน ๓-๔ เดือน ต้นครามจะมีอายุใช้งานประมาณ ๒-๓ ปี ขึ้นอยู่กับพื้นที่และวิธีการปลูก

ประโยชน์อื่น ๆ
ใช้เป็นยาช่วยลดไข้ ถ้าเป็นไข้สูงโดยเฉพาะไข้เลือดออก จะเอาครามผสมข้าวมาตำหรือบดให้ละเอียดแล้วห่อด้วยผ้าขาวบางเอามาประคบไว้ที่ฝ่าเท้าใช้ผ้ามัดไว้ ถ้าไข้ลดแล้วและเอาผ้าพันออกจะเห็นเป็นจุดดำๆ บนฝ่าเท้า
เนื่องจากครามจัดอยู่ในพืชตระกูลถั่ว จึงเป็นปุ๋ยพืชสดที่ปลูกเพื่อบำรุงดินได้ดี


เบิก

ชื่อพฤกษศาสตร์ Marsdenia tinctoria
ชื่อวงศ์ ASCLEPLADACEAE
ชื่อพื้นเมือง เบือก (อิสาน) ครามเถา ย่านคราม (ใต้)

ลักษณะทั่วไป
เป็นไม้เถาเลื้อยหรือไม้พุ่มเลื้อย ตามปกติสูงถึง ๕ เมตร ใบเดี่ยวอยู่ตรงข้ามกัน มีสีเขียวเข้ม มีขนปกคลุม ใบเรียวยาว หรือเป็นรูปไข่กึ่งรูปหัวใจ โคนใบกลมมน ปลายใบเรียวแหลม ดอกมีขนาดเล็ก สีเหลือง อยู่รวมเป็นกระจุก ดอกออกตามซอกใบ ออกเป็นช่อคล้ายซี่ร่ม เมล็ดมีขนติดเป็นกระจุก มีหลายเมล็ด
พืชชนิดนี้กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่กว้าง พบทั่วไปในแถบอินเดีย ตอนใต้ของจีน พม่า ไทย เวียตนาม จนถึงหมู่เกาะของอินโดนีเซีย นับเป็นพืชที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาพพื้นที่ที่ครามชนิดนี้เจริญได้ดี คือ บริเวณที่มีดินเปียกชื้นมากๆ

การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์โดยการตอน เพาะชำ หรือทาบกิ่ง

ส่วนให้สี
ใช้ใบ ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวมาผลิตสีครามได้ตลอดปี เป็นระยะเวลานานประมาณ ๕ ปี

ประโยชน์อื่น ๆ
ใบมีสรรพคุณทางยาพื้นบ้าน แก้อาการผิดปกติทางลำใส้
ใช้ภายนอกเพื่อกระตุ้นการงอกของผม ใช้ย้อมผมให้เป็นสีดำ
ในบังคลาเทศ ใช้สารสกัดจากต้นเบิกทำให้แท้งลูก

Labels: