Monday, September 17, 2012

เตรียมเสื้อยืดและลายเขียนหม้อห้อมลงทะเบียนโอทอป

เขียนสดๆ

แก้ววรรณา ได้คิดเรื่องหมึกหม้อห้อมธรรมชาติ และนำมาทำลวดลายโดยการซิลค์สกรีน เสื้อยืดตัวนี้ เติมการเขียนสดๆ ลงไปด้วย เป็นรูปนังตาหวานแมวตาข้างเดียวกับลูกน้อยทั้งสี่ ที่เจ้าของมันคือรวีคนเขียนภาพนั่นเอง "แป้บเดียวเท่านั้นเป็นรูปอี่ต๋าหวาน" พยอมบอกเมื่อได้อวดเสื้อ

เตรียม (7)

เสื้อตัดปะ

ความที่มีเนื้อผ้าลายผ้าหลายอย่าง ที่ทำเอง และอยากสื่อไปให้คนอื่น ๆ ได้รู้ จึงคิดเสื้อตัดปะขึ้นมาส่งประกวดโอทอป ก็ได้ 4 ดาว ทั้งสองปี เสนอความต่าง และ การเย็บมือที่เป็นพื้นบ้านมากๆ

เตรียม (6)

ผ้าห้อมหลวง

ไปแอ่วหาป้าหลอม ช่างทอผ้าบ้านเก็ต เมืองปัว เห็นผ้าทอลายสองที่ป้าเรียกว่าผ้าแดงหลวง ก็เลยย้อมหม้อห้อมส่งไปให้ทอ และ ขอเรียกว่า ลายห้อมหลวง เพื่อเกี่ยวความจำไว้กับตำนานลื้อเมืองปัว ผืนนี้ใช้ปูที่นอน หรือ เป็นผ้าห่มหน้าร้อนได้

เตรียม (5)

ผ้าปลอกที่นอนปลอกผ้าห่ม

ปีหนึ่งนานมาแล้ว ได้ไปค้างที่บ้านทุ่งสุน กลุ่มทอผ้าของพี่ศรีสวลัย หน้าหนาวคืนนั้น อบอุ่นด้วยผ้าห่มในฝ้าย ประทับใจมาก เมื่อมีโอกาสมีผ้าทอเป็นของตัวเองทำจากฝ้ายย้อมหม้อห้อมธรรมชาติ จึงทำเป็นปลอกใส่ใส้ในด้วย "ฝ้ายผ่าน" ซึ่งเป็นคำเรียกใส้ในผ้านวมของคนเมืองเหนือ

เตรียม ( 4 )

ผ้าขาวม้า

งานของแก้ววรรณา จะอิงแบบแผนเดิมๆ ผ้าขาวม้าผืนนี้ก็เช่นกัน ลายที่เพิ่มก็เป็นสีน้ำตาลที่ย้อมจากมะเกลือ ทั้งมะเกลือและ หม้อห้อม เป็นการย้อมสีที่ไม่ใช้ไฟใช้ฟืน เรียกว่าย้อมเย็น

เตรียม (3)

ผ้าแหลบ

ผ้าแหลบปูนอน ( เกลอเก่า 1 ) ประดิษฐ์จาก ผ้าทอกี่มือผสมลายจากเส้นด้ายหม้อห้อมย้อมหลายเฉดสีกับเส้นด้ายย้อมมะเกลือเป็นชิ้นบน ประกอบเข้ากับผ้าทอสีขาวเนื้อหยาบกว่าให้เป็นขอบและรองพื้นเพื่อความคงทนของชิ้นงาน ผ้าแหลบ เป็นผ้าที่ใช้ปูนอน ต่างจากผ้าหลบตรงที่ใช้ปูกับพื้นได้เลย เป็นผ้าที่มีขนาดเหมาะแก่การพกพาในเวลาเดินทาง หรือ นำไปใช้ปูนอนที่วัด เกลอเก่า 1 นี้ ออกแบบมาเป็นชุดกับ เกลอเก่า 2 (หมอนป่อง) และ เกลอเก่า 3 (หมอนผา) เป็นตัวแทนข้าวของเครื่องใช้จากอดีต ที่ใช้ผ้าปักผ้าทอตามประเพณี แปลงมาใช้กับผ้าหม้อห้อมธรรมชาติอันมีลวดลายที่เข้ากันมากขึ้นกับวิถีสมัยใหม่

เตรียม (2)

ผ้าห่ม และเบาะนั่ง ไตแดง

เสาะหาห้อม จนไปได้ญาติที่บ้านนาแซง แขวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นไตแดง จึงให้ทอผ้าแล้วเย็บต่อกันซ้อนผ้าเป็นผ้าห่ม ใช้ห่มหน้าร้อน ได้มาเพียง 5 ผืน ไม่รู้จะทำต่อไหม พยายามออกแบบให้ยังคงลายพื้นบ้านของชนเผ่า ขณะเดียวกันก็วางตำแหน่ง ไม่ให้ลาย เกินไป ส่วนเบาะนั่ง ก็แปลงมาจากของญาติใหม่นี่แหละ แต่เพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้น ของเก่าพอรองก้น คนอ้วนก็รองไม่หมดด้วยกระมัง

เตรียมลงทะเบียนโอทอป


ผ้าคลุมไหล่รุ่นนี้ มีตำนาน
ทอตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ใช้ฝ้าย 40 / 2 เป็นด้ายยืนพุ่งด้วยฝ้ายเมือง คั่นด้วยฝ้ายก๊บไก ส่วนชายก็ให้ยายอ้อนใช้วิธีสอยกอดๆ ไม่ฟั่น ปล่อยให้ยุ่ง ยิ่งจะยุ่งตอนซัก แต่ก็สวย

Monday, September 03, 2012

ฝาหรั่งมาเมื่่อ กันยายน 2554

2 fr tourists visited kaewwanna natural indigo, phrae, thailand, sept 2011

http://youtu.be/G0zclSPAg1U

หมอนๆ ทั้งหลาย


                 ป้าเนตร คนบ้านเหมืองหม้อ ขอทำหมอน เพราะเป็นงานถนัด ,
 เราก็จัด ผ้าผืน หม้อห้อมสวย ,
 บอกเร็วเร็ว จะเอาส่ง ประกวดด้วย ,
 ป้าก็ช่วย ทำด่วนให้ ในสองวัน ,
ป้าเป็นห่วง ว่าอีกหน่อย จะมีน้อย ,
คนก็ค่อย ล่วงไป ตามวัยผัน ,
จะหายาก ยิ่งขึ้น ทุกทุกวัน ,
เชิญชวนกัน เก็บไว้ ให้อุ่นใจ ,
ใครจะเก็บ ด้วยการซื้อ ก็ทำได้ ,
ใครใคร่เก็บ ด้วยการหัด ฝึกก็ได้ ,
เชิญชวนไว้ เผื่ออยาก รักษา ของโบราณ...


 เรื่องราวที่เขียนประกอบส่งประกวด 3 เกลอ

 เกลอเก่า 1
 ผ้าแหลบปูนอน ประดิษฐ์จาก ผ้าทอกี่มือผสมลายจากเส้นด้ายหม้อห้อมย้อมหลายเฉดสีกับเส้นด้ายย้อมมะเกลือเป็นชิ้นบน ประกอบเข้ากับผ้าทอสีขาวเนื้อหยาบกว่าให้เป็นขอบและรองพื้นเพื่อความคงทนของชิ้นงาน ผ้าแหลบ เป็นผ้าที่ใช้ปูนอน ต่างจากผ้าหลบตรงที่ใช้ปูกับพื้นได้เลย เป็นผ้าที่มีขนาดเหมาะแก่การพกพาในเวลาเดินทาง หรือ นำไปใช้ปูนอนที่วัด เกลอเก่า 1 นี้ ออกแบบมาเป็นชุดกับ เกลอเก่า 2 (หมอนป่อง) และ เกลอเก่า 3 (หมอนผา) เป็นตัวแทนข้าวของเครื่องใช้จากอดีต ที่ใช้ผ้าปักผ้าทอตามประเพณี แปลงมาใช้กับผ้าหม้อห้อมธรรมชาติอันมีลวดลายที่เข้ากันมากขึ้นกับวิถีสมัยใหม่


 เกลอเก่า 2
 หมอนป่องอิงนั่ง ประดิษฐ์จาก ผ้าทอกี่มือผสมลายจากเส้นด้ายหม้อห้อมย้อมหลายเฉดสีเป็นชิ้นนอก หน้าหมอนเป็นอีกลวดลายหนึ่ง ประกอบเข้ากับผ้าดิบในส่วนปล่องเพื่อความคงทนของชิ้นงาน หมอนป่อง เป็นหมอนในวัฒนธรรมชนชาติไทลื้อ ซึ่งใช้หมอนหลายชนิด หม่อนป่องเป็นหมอนรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เย็บเป็นช่องเล็กๆ ยัดด้วยนุ่น ตรงกลางเป็นช่องว่างรูปกากบาททะลุสองด้าน มีแกนผ้าหรือแกนไม้สอดไว้ในปล่องนี้ด้วย มีเกร็ดเล่าต่ออีกว่า เวลาไปเยี่ยมแอ่วหาสาว ผู้บ่าวต้องเอามือซุกไว้ที่ปล่องหมอน ให้ผู้ใหญ่ได้เห็นว่ามือไม่ได้ไปลวนลามสาวเจ้า


 เกลอเก่า 3
หมอนผาอิงนั่ง ประดิษฐ์จาก ผ้าทอกี่มือผสมลายจากเส้นด้ายหม้อห้อมย้อมหลายเฉดสีเป็นชิ้นนอก หน้าหมอนเป็นอีกลวดลายหนึ่ง ประกอบเข้ากับผ้าดิบในส่วนปล่องเพื่อความคงทนของชิ้นงาน หมอนผา เป็นหมอนในวัฒนธรรมชนชาติไทลื้อ ซึ่งใช้หมอนหลายชนิด หม่อนผาเป็นหมอนรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ ใช้สำหรับโอกาสพิเศษ เช่น เป็นหมอนอิงในพิธีแต่งงาน หรือ เป็นหมอนที่ทำถวายพระสงฆ์ มีการปักตกแต่งหน้าหมอนเป็นลวดลายสวยงามด้วยเส้นโลหะสีเงินหรือสีทอง หมอนชนิดนี้นิยมใช้ในชนชั้นสูง มีนัยบอกถึงฐานะและอำนาจของผู้ใช้