Sunday, July 08, 2012

เป็นมั้ย? ธุรกิจเพื่อสังคม

ปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาสังคมในด้านต่างๆ ล้วนมีผลส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นถึงการแสวงหากำไรสูงสุดโดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมและสังคม ในขณะที่สิ่งต่างๆ เหล่านั้นถือเป็น “ต้นทุน” ด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าหากหน่วยธุรกิจยังดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนส่วนนี้ต่อไป ปัญหาก็จะเพิ่มพูนความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นสาเหตุใหเกิดหน่วยธุรกิจที่ตระหนักถึงความสำคัญของต้นทุนชนิดนี้โดยมุ่งหวังให้เกิดการสร้างสมดุลระหว่างการได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจ และการช่วยเหลือสังคมอย่างมีคุณธรรม ซึ่งเรียกหน่วยธุรกิจนี้ว่า social enterprise ในหลายปีที่ผ่านมา social enterprise นั้นได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก และหลายคนได้ตีความไปตามความเข้าใจแตกต่างกันออกไป คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า social enterprise คือการประกอบธุรกิจที่ไม่หวังผลกำไร กล่าวคือ กำไรที่เกิดขึ้นนั้นจะถูกส่งคืนให้กับสังคมในรูปแบบของกิจกรรมเพื่อสังคมหรือการสร้างงานให้กับคนยากไร้ แต่จริงๆ แล้ว การเป็น social enterprise นั้นนับรวมตั้งแต่การนำนวัตกรรมใหม่ๆ อันหลากหลายมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจเพื่อสังคมนั้นต้องรับภาระมากกว่า เนื่องจากต้องผสมผสานคุณค่าทางสังคมในหลายด้าน (สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์) และต้องพยายามยืนหยัดอยู่ในวงการธุรกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมไม่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั่วไปคือ ผลกำไรที่ต่ำ ซึ่งทำให้การทำธุรกิจเพื่อสังคมมีแนวทางที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด บทความล่าสุดของ Roger Martin และ Sally Osberg ที่ถูกตีพิมพ์ในบทวิจารณ์เกี่ยวกับนวัตกรรมทางสังคมของมหาวิทยาลัย Stanford ช่วยให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความหมายของการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมมากขึ้น โดยผู้เขียนทั้งสองคนเริ่มต้นด้วยการให้ความหมายหลักๆ ของการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม social enterprise ไว้ดังนี้ 1. ความสามารถในการแยกแยะความอยุติธรรมซ่อนอยู่ในความเสมอภาค ซึ่งก่อให้เกิดการแบ่งแยก การลดความสำคัญ หรือความทุกข์ยากในภาคส่วนสังคมมนุษย์ที่ขาดแคลนช่องทางทางการเงินหรือนโยบายทางการเมืองเพื่อที่จะได้มาซึ่งผลประโยชน์ด้วยตัวเอง 2. ความสามารถในการมองเห็นโอกาสในความอยุติธรรม ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสนำไปสู่การเสนอแนวทางการพัฒนาซึ่งเพิ่มพูนคุณค่าทางสังคมและนำแรงบันดาลใจมาก่อให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่มีความคิดสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา กล้าหาญ และกล้าท้าทายกับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า 3. ความสามารถในการหลอมรวมความเสมอภาคที่มั่นคงแบบใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสหรือบรรเทาความทุกข์ของกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และความเสมอภาคแบบใหม่นี้เอง ที่ช่วยสร้างอนาคตที่ดีกว่าของกลุ่มเป้าหมายและแม้แต่สังคมโดยรวม ศาสตราจารย์ Gregory Dees จากภาควิชา Fuqua School of Business มหาวิทยาลัย Duke University ได้ให้คำจำกัดความของ social enterprise ไว้ว่า “social entrepreneurs คือ ผู้ปฎิรูปและปฎิวัติทางสังคม กลุ่มคนเหล่านี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานจากเดิมที่เคยทำในหน่วยงานเพื่อสังคม มีทัศนะวิสัยที่ชัดเจนขึ้น โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าการแก้ปัญหาจากปลายเหตุ พร้อมกับการสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบและการพัฒนาอย่างยั่งยืน แม้ว่าการพัฒนาดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในท้องถิ่น แต่ทว่าผลจากการพัฒนานั้นสามารถที่จะกระตุ้นการพัฒนาระดับโลกในสาขาตางๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การดูแลสุขภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ศิลปะ และสังคมอื่นๆ” นอกจากธุรกิจทสร้างสรรค์ที่ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์แล้ว นักลงทุนเพื่อสังคมยังหมายรวมถึง ธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายทำเพื่อสังคม เช่น ธนาคารพัฒนาชุมชนที่แสวงหาผลกำไร หรือองค์กรลูกผสมระหว่างองค์กรที่ไม่แสวงหาประโยชน์และองค์กรที่แสวงหาประโยชน์ เช่น Homeless shelter ที่ฝึกและจ้างคนในชุมชนมาเป็นพนักงานในองค์กร “social entrepreneurs จะหาวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการช่วยเหลือสังคม” David Bornstein ผู้เขียนหนังสือ ‘How to Change the World: Social Entrepreneurs and the Power of New Ideas’ ได้กล่าวไว้ว่า “สิ่งที่นักธุรกิจทั่วไปมักคำนึงถึงคือเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้นเองก็คำนึงเรื่องเดียวกัน แต่สิ่งที่แตกต่างของผู้ประกอบการทางสังคม ก็คือ การคำนึงถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย เพราะพวกเขามีแรงกระตุ้น มีความคิดสร้างสรรค์ และยังเป็นผู้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่และใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ เสมอ และเขายังปฏิเสธที่จะล้มเลิก และพร้อมสร้างโลกที่ดีกว่า” ดังนั้นในโลกของธุรกิจสิ่งที่กระตุ้นผู้ประกอบการคือผลกำไร แต่ผู้ประกอบการเพื่อสังคมถูกกระตุ้นด้วยวิธีที่ดีกว่าในการแก้ปัญหาให้กับสังคม social entrepreneurs นั้นเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มุ่งเน้นถึงผลงานและการสร้างเครือข่าย นอกจากนั้นยังมีวิสัยทัศน์และความสามารถในการสื่อสารที่สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ผู้คนรอบข้าง ทั้งหุ้นส่วน ผู้ร่วมงาน อาสาสมัคร และคนอื่นๆ คุณสมบัติเด่นข้อง social entrepreneurs คือความสามารถในการสร้างแรงจูงใจในภาพรวม ตามที่ Bill Drayton ผู้บริหาร ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Ashoka ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ประกอบการเพื่อสังคมไม่พึงพอใจกับการให้ปลาหรือการสอนจับปลาแก่ชาวบ้าน พวกเขาจะไม่หยุดจนกว่าพวกเขาได้ทำการปฏิวัติอุตสาหกรรมการจับปลาเสียก่อน พวกเขาเป็นผู้ที่มีแรงกระตุ้น และมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้ที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่และใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ปฏิเสธที่จะล้มเลิก” Muhammed Yunus จากธนาคาร Grameen ท้าทายความคิดที่ว่าคนจนนั้นไร้ค่า โดยก่อตั้งธนาคารเพื่อคนจนแห่งแรกของโลกที่บังกลาเทศ ที่ให้คนจนกู้ยืมโดยไม่ต้องมีหลักประกัน ซึ่งทำให้คนในชุมชนสามารถนำเงินไปประกอบธุรกิจเพื่อเลี้ยงชีพได้ ซึ่งวิธีการนั้นเป็นที่รู้จักปัจจุบันในชื่อ micro finance โดย Yunus ได้ให้คำนิยามของธุรกิจประเภทนี้ว่า “social entrepreneurship” คือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เหล่านี้อาจเป็นทางเศรษฐกิจหรือไม่ เพื่อผลกำไรหรือไม่ ก็ได้” แต่เดิมนั้นภาคธุรกิจจะตัดสินประสิทธิภาพการทำงานด้วยสิ่งเดียวคือผลตอบแทนทางการเงิน อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ภาคธุรกิจจำนวนมากได้มองผลกระทบธุรกิจมีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่ธุรกิจนั้นดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย โดยการใช้ Triple Bottom Line ซึ่งเป็นความคิดที่ช่วยให้บริษัทและองค์กรสามารถประเมินประสิทธิภาพในการทำงานโดยนำเอามุมมองทางด้านความยั่งยืนหรือวิธีการผสมผสานคุณค่าทางสังคมทั้งสามด้านมาใช้ร่วมด้วย social enterprise ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก Triple Bottom Line คือ การสร้างผลตอบแทนให้แก่สังคมและชุมชน (social) การรักษาสิ่งแวดล้อม (environment) และการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไรอย่างเป็นธรรม (economic) โดยสามแกนหลักนี้เป็นแนวทางพื้นฐานสำคัญในการทำธุรกิจเพื่อประโยชน์ต่อสังคม ทั้งธุรกิจที่หวังผลกำไรและไม่หวังผลกำไรนั้นสามารถสร้างคุณค่าต่างๆ ให้แก่สังคมมากกว่าที่ข้อบทกฏหมายกำหนดไว้ อาทิ การสร้างงาน การจ่ายภาษี การขายสินค้า และบริการแก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันธุรกิจก็ยังสามารถสร้างผลกระทบด้านลบแก่สิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การสร้างขยะและมลภาวะ แต่ถ้าธุรกิจเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร? หากธุรกิจสามารถทำธุรกิจบนพื้นฐานการตอบแทนแก่สังคม โดยสามารถเลือกลงทุนในธุรกิจที่ช่วยชีวิตคนได้มากกวาธุรกิจอื่นๆ ไม่ลงทุนในธุรกิจที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และด้วยการที่ธุรกิจสามารถระดม "ทุนทางสังคม" (social capital) เพื่อนำมาลงทุนสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ได้มีกำไรเป็นแรงจูงใจแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้ธุรกิจสามารถรุกเข้าสู่ตลาดใหม่และสามารถขยายธุรกิจหลักได้พร้อมๆ กับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้นด้วย