Friday, June 10, 2011

แพรพรรณหม้อห้อมแพร่

แพรพรรณหม้อห้อมแพร่
บทความ เขียนโดยวุฒิไกร ผาทอง 31 พค.54

หม้อห้อมอยู่คู่เมืองแพร่มานานนับร้อย ๆ ปี ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วเป็นเศษเสี้ยวของเวลาที่มีหลักฐานว่ามีหม้อห้อมเกิดขึ้นในโลก ที่ประเทศจีนว่าไว้กว่า ๕,๐๐๐ปี ที่อียิปต์ก็กว่า ๒,๐๐๐ ปี ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกก็มีหม้อห้อม แต่ไม่ได้เรียกอย่างเรา พื้นที่จังหวัดแพร่ได้มีกลุ่มชนชาติ ไท-ลาว อพยพเข้ามาอยู่อาศัยหลายช่วง ถ้านับว่าพ่อขุนพญาพลพาผู้คนมาจากเชียงแสนเพื่อสร้างเมืองแพร่ ก็คือพันกว่าปีก่อน แล้วประมาณไม่กี่ร้อยปีมานี้ ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์เจ้าเมืองแพร่ก็ได้พาไพร่พลมาจากสิบสองปันนา จากเชียงแสน จากแขวงเชียงขวางประเทศลาวอีก คนเหล่านี้ก็ล้วนมีความรู้ด้านหม้อห้อม ซึ่งน่าจะรวมถึงคนพื้นเพเดิมด้วย เพราะพืชพรรณที่ให้สีครามมีอยู่ทั่วไป ทั่วโลก คนสมัยก่อน ต่างก็ผลิตเสื้อผ้าใช้เองทั้งนั้น ปลูกฝ้าย ปั่นด้าย ทอผ้า ย้อมผ้ากันเอง แล้วก็เลิกทำเองก็เมื่อมีระบบการค้าขายกับต่างแดนอย่างจริงจัง ระบบก็จะเน้นเรื่องความถนัดเฉพาะจึงสรรสร้างสินค้าได้น่าสนใจกว่าของที่เห็นชินจนตาในท้องถิ่น

ชาวไทยรู้กันทั่วไปว่า มาเมืองแพร่ต้องซื้อหม้อห้อม ในช่วงระยะไม่ถึง ๑๐๐ ปี นี่เอง นั่นเป็นเพราะความสามารถในการผลิต การย้อม การตัดเย็บของคนทุ่งโฮ้ง ซึ่งเป็นเชื้อสายไทพวนจากแขวงเชียงขวาง มีตำนานเรื่องเล่าที่น่ามหัศจรรย์จนกลายมาเป็นประเพณีกำฟ้า คนทุ่งโฮ้งขยัน พัฒนาปรับปรุงสินค้ามาโดยตลอด และค้าขายเก่งจึงกระจายชื่อเสียงเรื่องหม้อห้อมได้อย่างรวดเร็ว

แหล่งซื้อหาผ้าหม้อห้อมในช่วง ๕๐ – ๗๐ปีที่ผ่านมานี้ นอกจากบ้านทุ่งโฮ้ง ก็จะมีบ้านเวียงทองที่ถ่ายทอดมาทางสายญาติทุ่งโฮ้ง และบ้านพระหลวง ซึ่งเป็นกลุ่มไทลื้อที่อพยพมาอยู่ที่ป่าดงใหญ่ มีพระธาตุเนิ้งอันมีตำนานเก่าแก่เช่นกัน แล้วทั้งทุ่งโฮ้งและพระหลวงต่างก็มีภาษาพูดของตนเอง เป็นความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มเข้าไปอีก

ในช่วงค้าขายดี ๆ ระบบการผลิตจึงต้องปรับให้ทันกับความต้องการ ดังนั้นเมื่อตลาดกว้างขวางขึ้น การแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น การผลิตที่สะดวกสบายขึ้น ทำให้วิถีการผลิตแบบเดิมนั้นหายไป

จากการใช้ครามเปียกที่ได้จากต้นห้อมต้นครามที่ปลูกกันเองทำเป็นสีย้อมเอง ก็กลายเป็นครามที่มีพ่อค้าใส่กระป๋องมาขาย ถึงช่วงหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นครามเกล็ดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เป็นถังใหญ่ แบ่งขายเป็นกิโลกรัม ส่วนพัฒนาการด้านน้ำด่างนั้น ที่เคยได้จากขี้เถ้าในครัว ก็กลายเป็นขุดหัวกล้วย ต้นผักโขมหนาม ฯลฯ มาตากแห้งแล้วเผาเอาขี้เถ้า มาช่วงหลังสุดเป็นด่างที่มาเป็นรูปผงขาว ๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม

ถึงระยะประมาณ ปี ๒๕๔๐- ๒๕๔๕ ความเข้าใจเรื่องหม้อห้อม ก็จะแยกเป็น ๒ อย่าง พูดคำว่าหม้อห้อมแท้นั้นก็หมายถึงเสื้อหม้อห้อมที่ย้อมเสื้อผ้าดิบเอาในหมู่บ้านในชุมชน อีกอย่างที่เหลือก็หมายถึงหม้อห้อมที่เอาผ้าที่ย้อมสำเร็จแล้วจากโรงงานมาตัดเย็บ ความหลากหลายของหม้อห้อมก็อยู่ที่กรรมวิธีการย้อม ย้อมเย็นก่อน ต่อด้วยการ “ชุบซ้ำ” (ภาษาเฉพาะคนขายหม้อห้อม หมายถึงการย้อมร้อนด้วยสีเคมีทับ) ผู้ย้อมแต่ละคนก็มีเทคนิคเฉพาะตัว รูปแบบเสื้อผ้าปรับจากเสื้อกุยเฮง เตี่ยวสะดอ ขาก้วย เป็นเชิ้ต ๒ กระเป๋า ๔ กระเป๋า เป็นกางเกงหูรูด มีการตกแต่งลวดลายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ลายบาติกของม้ง หรือ ผ้าตีนจก ผ้าทอพื้นเมือง

ในช่วงปี ๒๕๔๕ มีกระแสความต้องการผ้าย้อมสีธรรมชาติเกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการสนใจเรื่องผ้าหม้อห้อมย้อมสีธรรมชาติ มีการสั่งซื้อเนื้อครามมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการเสาะซื้อต้นห้อมใบห้อมจากหมู่บ้านในพื้นที่ป่าซีกตะวันออกของเมืองแพร่ ภาคเอกชนบางรายมีความพยายามที่จะส่งเสริมการปลูกด้วย มาในปี ๒๕๕๔ นี้ มีบางรายให้ชาวบ้านในพื้นที่นำใบห้อมจากป่าทิศตะวันตกของจังหวัดมาใช้ในการทำน้ำห้อมมาหมักย้อมผ้า

กระแสหม้อห้อมอื่น ๆ ก็มาพร้อม ๆ กัน ทำให้วงการหม้อห้อมเมืองแพร่เปลี่ยนแปลงไปอีกมาก การตกแต่ง รวมถึงรูปแบบเสื้อผ้ามีความหลากอีกหลายเท่า ความมีชื่อเสียงของหม้อห้อมแพร่ยิ่งมีมากขึ้น ทำให้เกิดการผลิตในจังหวัดอื่นๆ แล้วบอกว่าเป็นหม้อห้อมแพร่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องบอกเช่นนั้นเลย เพราะหม้อห้อมนั้นเป็นวัฒนธรรมร่วมกันของคนล้านนาทั้งหมด ผลิตที่ไหนก็น่าจะบอกว่าเป็นของที่นั้น ๆ ให้มีเอกลักษณ์ของตนเองจนลูกค้าจำได้ อย่างคนที่เคยใช้หม้อห้อมของเมืองแพร่ ก็จะติดใจในเนื้อผ้าที่จะหาซื้อได้เฉพาะที่เมืองแพร่เท่านั้น เนื่องจากโรงงานจะผลิตมาขายให้เฉพาะเมืองแพร่

ช่วงปี ๒๕๕๔ นี้ ในวงผู้ประกอบการหม้อห้อมต่างก็เห็นชัดขึ้นว่ามีการพัฒนาหม้อห้อมแยกเป็น ๓ สาย คือ หม้อห้อมสังเคราะห์ หม้อห้อมธรรมชาติ และ หม้อห้อมที่นำเนื้อผ้าทั้งสองแบบมาใช้ผสมผสานกัน ซึ่งเป็นโอกาสให้ลูกค้าเลือกได้ตามรสนิยม ตามโอกาสแห่งการใช้สอย บ้างก็มุ่งตอบสนองตลาดต่างประเทศ

หม้อห้อมสังเคราะห์ ก็มีทั้งใช้ผ้าย้อมมาจากโรงงาน หรือ ผ้าดิบมาย้อมเอง บ้างก็ย้อมแบบบาติก เย็บแล้วก็ผ่านกรรมวิธีฟอกให้นุ่ม ฟอกกันสีตก มีรูปแบบมากมาย ตามระดับราคาที่ผู้ซื้อต้องการ

หม้อห้อมธรรมชาติ ก็มีความแตกต่างในแต่ละร้าน ในเนื้อผ้า ลวดลายเทคนิคการทอ มีทั้งมัดย้อม จุ่มย้อม หรือ สกรีนลายด้วยหม้อห้อมธรรมชาติ ตามความถนัดและบุคลิกของเจ้าของร้าน

อย่างไรก็ตามในกลุ่มผู้ประกอบการหม้อห้อมก็ได้พยายามส่งเสริมให้มีการระบุขนาดของเสื้อผ้าลงในป้ายราคาว่ากว้างยาวเท่าไหร่ ซึ่งหลายร้านก็จะระบุไปถึงประเภทผ้า วิธีการย้อม สีที่ใช้ย้อม รวมทั้งวิธีใช้วิธีซัก การดูแลรักษา ให้ลูกค้าเลือกซื้อได้สะดวกขึ้น

การผลิตหม้อห้อมแบบดั้งเดิม

การผลิตหม้อห้อมแบบดั้งเดิม หรือ หม้อห้อมธรรมชาตินั้น แบ่งเป็น ๕ ส่วน

ส่วนแรกนั้นคือการทำเนื้อห้อมจากต้นห้อม เนื้อครามจากต้นคราม หรือเนื้อครามจากต้นเบิก พืช ๓ ชนิดที่ให้สีคราม คนแพร่ก็เรียกรวม ๆ ว่าต้นห้อม เรานำพืชและอย่างนั้นมาแช่ประมาณ ๖ – ๑๒ ชั่วโมง แล้วแต่สภาพอากาศ จนน้ำที่แช่ออกสีเขียว กรองเอาแต่น้ำมาตีกับปูน พอได้ที่ฟองสีน้ำเงินก็จะยุบตัว ปล่อยให้ตกตะกอน แล้วกรองเอาตะกอนมาใช้ ตะกอนนั้นเรียกว่าเนื้อห้อม หรือ เนื้อครามนั่นเอง

ส่วนที่สองเป็นเรื่องของการทำน้ำด่างจากขี้เถ้า แบบเดียวกับที่คนโบราณเขากรองเอาไว้ซักผ้านั่นแหละ แต่แยกความเข้มข้นไว้เป็นน้ำหนึ่งน้ำสอง เพื่อใช้ต่างวาระกัน

ส่วนที่สามคือการก่อหม้อ บางแห่งเรียกว่าตั้งหม้อ นำเนื้อห้อมมาหมักรวมกับน้ำด่าง น้ำปูน น้ำตาล ตามอัตราส่วนที่เหมาะสม อย่างเรื่องน้ำตาลนั้นบางเจ้าก็ใช้เหล้า น้ำซาวข้าว บ้างก็เป็นกล้วย อ้อย สัปรส เป็นสูตรร้านใครร้านมัน ซึ่งจะใช้เวลาในการหมักตั้งแต่ ๒ ชั่วโมง ถึง ครึ่งเดือน ถึงจะย้อมได้ นั่นก็มีผลในเรื่องความทนทานของสีที่ย้อมได้ต่างกันอีก

ส่วนที่ ๔ คือ การย้อมอยากได้สีเข้มก็ย้อมซ้ำอีกถ้าเส้นด้ายนั้นแห้งหมาด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะชอบใจถ้าได้ลองย้อม เพราะติดใจเรื่องการเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีฟ้าหรือน้ำเงินของเส้นฝ้ายย้อมที่ชุ่มน้ำย้อมเมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศ แล้วการย้อมห้อมธรรมชาติก็รู้สึกไว้วางใจ เบาใจไม่กลัวแพ้หรือคันตามมา และ ส่วนที่ ๕ นั้นเป็นการทอที่บางคนอาจสนุกกับการออกแบบให้ช่างทอ แต่ไม่สนุกกับการรอคอย กว่าจะเห็นของจริงก็ ๒ – ๔ เดือน

Labels: