กลุ่มน้ำห้อม นาตอง
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ช่วงเช้า มีกิจกรรมสาธิตการทำน้ำห้อม
จากต้นห้อมพืชที่ปลูกในป่าบ้านนาตอง
น้ำห้อมเป็นส่วนผสมหลักที่จะนำมาหมักเพื่อให้เป็นน้ำย้อมหม้อห้อม นอกจากส่วนผสมอื่น ๆ เช่น น้ำด่าง ผลไม้ อ้อย
หรือ เหล้า ตามสูตรของช่างย้อมแต่ละคน
และ หม้อห้อมโดยทั่วไปจะใช้ครามสังเคราะห์ผง ไม่ใช่น้ำห้อมธรรมชาติแบบนี้
บ้านนาตอง ห่างจากตัวเมืองแพร่โดยระยะทางประมาณ
30 กิโลเมตร
อยู่ในหุบเขาที่มีน้ำแม่ก๋อนไหลผ่าน
ชาวบ้านทดลองปลูกต้นห้อมแซมตามป่าที่ชุ่มชื้น เพื่อเก็บใบมาทำน้ำห้อมและขายเป็นรายได้ แทนที่จะตัดไม้ทำลายป่า
ในโอกาสที่แก้ววรรณาหม้อห้อมธรรมชาติเข้าโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม
ซึ่งเป็นโครงการที่ 3 หน่วยงานทำร่วมกัน คือ ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป)
สำนักงานส่งเสริมการประกอบการทางสังคม (สกส) และ บริติชเคาน์ซิล (BC) จึงมีคณะเจ้าหน้าที่ดำเนินการมาเยี่ยมเยือน เพื่อหาข้อมูลของกิจการ จึงจัดสาธิตการทำน้ำห้อมที่บ้านนาตอง ในวันที่ 16 พย. 58 ซึ่งปกติแล้ว
ทางแก้ววรรณาจะไม่ได้เข้าไปกำหนดวัน
แต่ชาวบ้านจะทำกันเองและเอาน้ำห้อมมาขายให้ตามวันเวลาที่สะดวก ซึ่งไม่แน่นอน
ไม่นึกมาก่อนว่า จะมีการจัดตั้งกลุ่มเป็นทางการถึงขนาดนี้ ได้เห็นผู้นำกลุ่มที่สนใจ และพัฒนาความรู้ เก็บข้อมูลก็ยิ่งดีใจ ความรู้ใหม่ที่ข้าพเจ้าทราบเกี่ยวกับต้นห้อมคือ ห้อมใบใหญ่ให้สีสวย แต่อาจได้ปริมาณไม่เท่าห้อมใบเล็กที่ต้องปลูกในพื้นที่ชุ่มชื้นมากกว่า และ ทางกลุ่มประเมินว่า ในปี 2564 ผลผลิตน้ำห้อมรวมของเครือข่ายอีกหลายหมู่บ้าน ในป่าของตำบลป่าแดงช่อแฮ จะมีมากถึง 20 ตัน ถึงตอนนั้น คนแพร่ได้ใช้เสื้อผ้าที่ย้อมจากหม้อห้อมธรรมชาติมากขึ้น..