Friday, May 07, 2021

3-07-05-2564


3.

ผลิตภัณฑ์ของแก้ววรรณา จะอิงตามความสนใจของคนทำ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการใช้สอยและรูปแบบโครงสร้างของผ้า ผ้าทอมีโครงสร้างที่บอบบาง นำมาตัดเย็บผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้สอยอย่างหนัก

หลายคนถามเป็นคำแรกว่า สีตกไหม เราก็จะถามว่าความหมายคำว่าสีตกคืออะไร ผ้าย้อมสีธรรมชาติทุกชนิดสีจะไม่ตกเลอะกับผ้าอื่น เพราะกระบวนการย้อมสีนั้นต้องมีกรดด่างที่เหมาะสม สีจึงจะติดได้ ถามว่าสีจะซีดไหม เราก็ตอบว่ามันเป็นธรรมชาติ จะซีดเป็นธรรมดา แต่จะค่อยๆ ซีดตามสภาพการใช้งาน ผ้าที่ย้อมสีสังเคราะห์ก็ยังซีดได้ ถ้าจะให้สีธรรมชาติไม่ซีด ก็คงต้องใช้น้ำยาเคมีมาเคลือบกระมัง

เรามีความนับถือมากกับโครงการต่างๆ ที่มาเชื่อมกับเรา เพื่อพัฒนาเรื่องราว หรือ พัฒนาหม้อห้อม เพราะความที่เรื่องมาก จึงมีแต่โครงการที่มุ่งมั่นกับเราจริงๆ ที่มาร่วมงานกัน แม้แต่โครงการทางอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ เราก็มีข้อจำกัดเรื่องถ่ายภาพ เรื่องโพสขายของ

อยากให้มาเยี่ยมเยือนกันมากกว่า อย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่ง แล้วค่อยสั่งจากทางไกลสำหรับการสั่งซื้อครั้งที่ 2 และ ต่อๆ ไป

ภาพนี้ ถ่ายโดยโครงการของ CEA เชียงใหม่


 

2-07-05-2564

 


2.

หม้อห้อมแก้ววรรณา​ เริ่มกิจการตั้งแต่ปี​ 2542 ความประสงค์แรกก็แค่จะทำธุรกิจ​ซื้อมาขายไป​ เลือกสินค้ามาจากเจ้าต่าง​ๆ​ แล้วมาเปิดร้านที่แยกสนามบิน​ ต่อๆ​ มาก็พัฒนาจนถึงการมีโรงย้อมเอง​ เป็นการปรับตัวตามสถานการณ์​ ที่บีบให้ทำเอง​ เพราะเรามั่นใจว่าได้ผ้าย้อมธรรมชาติ​จริงๆ​ ทำให้เราตั้งราคาจากความจริงที่เกิดขึ้น

สีย้อม​ จากต้นห้อม​ ด่างจากน้ำขี้เถ้า​ ​กรดจากพืชผลไม้​ การซักหลังย้อมก็ใช้น้ำหมัก​ ที่หมักเอง​3-4 ปี​ กระบวนการผลิตแบบนี้จึงต้องทำเอง​ ย้อมเส้นด้าย​ และส่งไปให้คนทอที่บ้านหนองน้ำรัต เส้นด้ายที่มาย้อมก็สั่งจากบริษัทบ้านสิ่งทอ​ เป็นเส้นด้ายฝ้ายแท้ไม่ฟอก​สี ทางบริษัทรับรอง​ ผ้าบางส่วนส่งเย็บที่บ้านดอนดี​

เราประสงค์ที่จะขายเป็นผ้าผืนมากกว่าขายสำเร็จรูป​ เพราะกระบวนการแปรรูป​ กระบวนการตลาดของเสื้อผ้าสำเร็จรูป​ รูปแบบ แฟชั่น​ การคิวซี​ การบัญชี​ สต้อคสินค้า​ เกินกำลังที่จะทำเอง​ เสื้อผ้าที่ทำก็ไม่มีอัดผ้ากาว​หรือซับใน​ ด้วยเรามีแนวคิดว่า​ ร่างกายผู้ใช้น่าจะได้สัมผัสกับผ้าทอธรรมชาติ​ ที่มีความนุ่มนวล​ เย็นสบาย



1-07-05-2564


1.

อาจารย์​จากราชภัฎอุตรดิตถ์​ โทรถามว่าใช้รูปนี้ได้ไหม​ ประกอบเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ที่ขอมา เรื่อง​ ​GI เขาเน้นประเด็นป้ายสินค้า​ เป็นภาพที่นิตยสารเดอะคลาวด์ถ่าย​ 2-3 ปี ก่อน

จากสถานการณ์โควิด​ ทำให้คาดเดาไม่ได้ว่าอนาคตหม้อห้อมธรรมชาติจะเป็นอย่างไร​

ทั้งที่เราบอกว่าไวรัสโควิดหรือโรคอุบัติใหม่ต่างๆ​ ที่เกิดขึ้น​ เป็นเพราะเราละเลยธรรมชาติ​ แต่จากสถานการณ์โควิดทำให้เรามีความจำเป็นด้านอื่น​ อาทิ​ อัตราการเพิ่มขึ้นของขยะเพิ่มขึ้นด้วยการสั่งอาหารสิ่งของออนไลน์​ การใช้รถสาธารณะไม่ได้​

จากปกติที่อธิบายยากอยู่แล้ว​ ว่า​ "หม้อห้อม" สะกดอย่างไร​ การอธิบายว่าหม้อห้อมธรรมชาติต่างจากหม้อห้อมในตลาดอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ง่าย​ เราจึงชวนลูกค้ามาที่โรงย้อมก่อนที่จะไปชมผลิตภัณฑ์ในห้องผ้า​ รู้จักเรื่องราวก่อนที่จะเห็นผ้า​ และสำหรับลูกค้าที่ยังไม่รู้จักมาก่อน​ ก็จะค่อยๆ​ เลียบเคียงว่าเคยใช้ผ้าทอ​ หรือผ้าย้อมสีธรรมชาติหรือไม่

การย้อมธรรมชาติมีรายละเอียดมาก​ ทั้งการย้อม และ​ ระดับที่ยอมรับได้ของการย้อม​ ว่าแบบไหนคือธรรมชาติที่ต้องการ​ ในสถานการณ์โควิด​ เราได้กำลังใจจากสถานธรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี​ สั่งย้อม​และให้เราลองทอผ้ามะเกลือไปให้ผู้ปฏิบัติธรรมใช้ ที่นี่เคยพยายามตั้งโรงย้อมเอง​ แต่ยังย้อมไม่ได้​ ตระเวน​ไปสั่งทอสั่งย้อมจากทั่วไปหลายเจ้าที่บอกว่าธรรมชาติ​ ก็ไม่ใด้อย่างที่ต้องการ​ ต้องบอกว่าธรรมะจัดสรรให้เราพบกัน

พยอมตั้งใจจะไปเยี่ยมสถานธรรมนี้​ เผื่อเขาทำกันได้เอง​ แต่โควิดมารอบ​ 2​ เสียก่อน​ นั่นเป็นเรื่องผ้าย้อมมะเกลือ
ส่วนของเรื่องผ้าหม้อห้อม​ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ลูกค้าหม้อห้อมเมืองแพร่​ ได้​ใช้ "หม้อห้อม" อย่างที่ท่านคิดและประสงค์