Friday, December 14, 2007

คุณเจเล่าเรื่องคราม

โลกแห่งสีคราม

โลกรอบตัวเราเต็มไปด้วยสีสันของธรรมชาติ ทั้งสีฟ้าของท้องฟ้า สีครามของทะเล สีเขียวของต้นไม้ และสีน้ำตาลของผืนดิน เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว ที่มนุษย์พยายามสร้างสรรค์สีทั้งจากวัสดุธรรมชาติเช่นจากพันธุ์ไม้ แร่ธาตุ และวัสดุสังเคราะห์เพื่อให้ได้สีที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติและสามารถถ่ายทอดความเชื่อ อารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ได้ดีที่สุด

เวลาที่มองๆไปรอบๆตัว มองไปบนเสื้อผ้าที่เราใส่ เคยสงสัยมั้ยคะว่าสีต่างๆนั้นมีที่มายังไง วันนี้เราจะมาพูดถึงสีฟ้ากัน

สีฟ้ามีความเชื่อมโยงกับความเชื่อของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ชาวอียิปต์เชื่อว่าสีฟ้าเป็นสีของเทพเจ้า และชาวคริสต์ก็เชื่อว่าสีฟ้าเป็นสีของความบริสุทธิ์ ดังที่ปรากฏบนชุดของพระแม่มารีในภาพ The Annunciation แสดงถึงเหตุการณ์ตอนที่ทูตสวรรค์แกเบรียลมาส่งสารให้พระแม่มารี ในสมัยอียิปต์โบราณนั้นมีหลักฐานว่าสีฟ้าที่ใช้เขียนภาพทำมาจากแร่รัตนชาติคือลาปิส ลาซูลี่ (Lapis Lazuli) ในด้านการผลิตสีย้อมนั้น ไพลนี่ผู้อาวุโส (Pliny the Elder) นักเขียนชาวโรมันสมัยคริสตศตวรรษที่1 บันทึกไว้ว่าช่างย้อมชาวอียิปต์ใช้คราม (indigo - ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Indigofera tinctoria ) เพื่อผลิตสีฟ้า ส่วนในแถบเอเชียก็มีบันทึกถึงการผลิตสีย้อมจากต้นครามในดินแดนแถบประเทศอินเดียปัจจุบันตั้งแต่สมัย 400 ปีก่อนคริสตกาล และคำว่า indigo ก็มาจากภาษากรีก คือ indicon แปลว่า “มาจากอินเดีย” จึงแสดงให้เห็นว่าครามพันธุ์ที่นิยมใช้ทำสีย้อมนั้นน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย

ในสมัยยุคกลาง ชาวยุโรปผลิตสีย้อมสีฟ้าจากพืชท้องถิ่นชื่อว่า woad (ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Isatis tinctoria) แต่สีที่ได้จากต้น woad นี้เป็นสีฟ้าจางๆและไม่ทนต่อแสง จึงมีการนำเข้าครามจากอินเดียโดยพ่อค้าชาวอาหรับมาสู่ดินแดนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในคริสตศตวรรษที่ 11 มาร์โคโปโลก็กล่าวถึงอุตสาหกรรมครามในอินเดียในคริสตศตวรรษที่13 และในศตวรรษที่ 15 เมื่อนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางมาถึงดินแดนแถบเอเชียรวมทั้งมีการเปิดตลาดการค้าระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ครามก็เป็นที่รู้จักในฐานะพืชที่ให้สีฟ้าที่สวย มีสีสด ไม่ตกเวลาซัก และทนต่อแสงแดด ด้วยคุณสมบัตินี้ผสมกับความนิยมในสีฟ้าในหมู่ชนชั้นสูง สีย้อมจากครามจึงเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ในคริสตศตวรรษที่ 18 ประเทศต่างๆในยุโรปนำเข้าครามเป็นจำนวนมหาศาลจนทำให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมผลิตสีจากต้น woad พังพินาศ หลายประเทศต้องประกาศห้ามนำเข้าครามเพื่อปกป้องเศรษฐกิจท้องถิ่น เยอรมนีถึงกับประกาศว่าสีครามเป็น “สีแห่งปีศาจ” แต่ต่อมาสีครามก็เข้ามาแทนที่สีฟ้าจากต้น woad และอุตสาหกรรมการผลิตสีฟ้าจากต้น woad ก็ค่อยๆหมดไป ในสมัยนั้นประเทศอังกฤษเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากอุตสาหกรรมการผลิตครามเพราะเมื่อได้อินเดียเป็นอาณานิคม อังกฤษก็สามารถควบคุมอุตสาหกรรมนี้ไว้ได้และยังสั่งให้ปลูกครามเป็นพื้นที่ถึง 17,000 ตร.กม.ที่แคว้นพิหารในภาคเหนือของอินเดียเพื่อการค้าขายซึ่งสร้างความร่ำรวยแก่อังกฤษอย่างมาก ในที่สุดเยอรมนีเองก็ยังต้องประกาศยกเลิกการห้ามนำเข้าคราม และนำเข้าครามประมาณ 1,400 ตันต่อปี จักรพรรดิ์ นโปเลียนแห่งฝรั่งเศสก็นำเข้าคราม 150 ตันต่อปีเพื่อใช้ย้อมเครื่องแบบของกองทัพจำนวน 600,000 ชุด สีครามจึงมีชื่อเรียกขานในเวลาต่อมาว่า “ราชาแห่งสี”

จำนวนครามที่ผลิตได้ในอินเดียนั้นมากถึง 400,000 ตันต่อปี โดยส่งออกครึ่งหนึ่งและใช้ภายในประเทศครึ่งหนึ่ง แต่กำลังการผลิตรวมถึงกรรมวิธีการผลิตครามในขณะนั้นซึ่งใช้แรงงานคนทั้งหมด ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้สีครามของทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนมนุษย์และสามารถผลิตสิ่งทอได้จำนวนมหาศาล

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์เริ่มสามารถผลิตสีสังเคราะห์ต่างๆเช่นสีแดง สีเหลือง ได้แล้ว แต่สีที่ยังไม่สามารถผลิตได้ก็คือก็คือสีคราม สถาบันทางวิทยาศาสตร์ของเยอรมนีจึงได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลถึงยี่สิบล้านมาร์ก เพื่อคิดค้นสีสังเคราะห์มาใช้แทนสีคราม นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลากว่า 20 ปีในการค้นคว้ากว่าจะได้สีครามสังเคราะห์ ในปี 1904 ประเทศเยอรมนีจึงสามารถส่งออกสีครามสังเคราะห์ได้ 9,000 ตัน และมากขึ้นเป็น 27,000 ตันในปี 1913 และด้วยเหตุนี้เอง อุตสาหกรรมการผลิตครามจึงได้ล่มสลายลง โดยทั้งอินเดียและภูมิภาคต่างๆในโลกที่ระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการปลูกครามต่างได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล และอุตสาหกรรมการผลิตครามในโลกลดลงเหลือเป็นจำนวนเพียง 4 % ในปี 1914 ความยากจนและการกดขี่ที่ชาวอินเดียได้รับจากอุตสาหกรรมผลิตครามนี้เป็นชนวนสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่กระบวนการเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี 1918 โดยมหาตมะคานธี

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม กลุ่มประเทศสัมพันธมิตรจึงได้เรียกร้องสูตรการผลิตสีสังเคราะห์จากประเทศเยอรมนีในฐานะหนึ่งในค่าปฏิกรณ์สงคราม จากนั้นประเทศต่างๆเช่น อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส อเมริกาและญี่ปุ่น จึงกลายเป็นผู้ส่งออกสีสังเคราะห์ พร้อมทั้งตั้งโรงงานผลิตสีสังเคราะห์ในทวีปต่างๆของโลกได้แก่ อินเดีย อัฟริกาใต้และออสเตรเลีย และในปี 1939 อเมริกาก็กลายเป็นผู้ผลิตสีสังเคราะห์รายใหญ่ที่สุดของโลก ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สีครามสังเคราะห์ก็ยังเป็นที่ต้องการทั่วไปโดยเฉพาะเพื่อนำไปย้อมผ้า Blue Jeans (ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า Genoa Blue – สีฟ้าจากเจนัว) และชุดทำงานของกรรมกรในประเทศจีนสมัยประธานเหมาเจ๋อตุง

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วหวังว่าทุกคนคงจะเริ่มมองเห็นว่าที่มาของสีฟ้าบนกางเกงยีนส์หรือเสื้อผ้าของเราที่ใส่อยู่ทุกวันนั้นมีความเป็นมายังไง สีฟ้านี้เป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์และความพยายามของมนุษย์อันยาวนานนับพันปีที่จะเลียนแบบธรรมชาติและนำองค์ประกอบของธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตและนำเสนอความเป็นตัวตนในแง่ของความหมายและสัญลักษณ์ที่เราไม่ควรจะมองผ่านเลยไป

ในประเทศไทยเองก็ใช้ครามในการย้อมผ้ามาตั้งแต่สมัยโบราณโดยเฉพาะในภาคอีสานร่วมกับการใช้ต้นห้อมและต้นเบิกในภาคเหนือโดยทั้งหมดจะให้สีโทนสีฟ้าเช่นกัน แม้ว่าในปัจจุบันนี้ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกสีรายใหญ่ของโลก โดยมีความสามารถผลิตสีที่มีความสด ทนทาน มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศต่างๆเช่นอิตาลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ก็ยังนำเข้าผ้าย้อมครามธรรมชาติจากประเทศไทยจำนวนมาก ปัจจัยนี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนเริ่มตระหนักถึงโทษของสารสังเคราะห์และกระบวนการทำสีสังเคราะห์ที่เป็นโทษต่อสิ่งแวดล้อมและเริ่มหันมาหาสีย้อมธรรมชาติมากขึ้น เพราะกระบวนการผลิตสีย้อมจากธรรมชาตินั้นไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมและผู้สวมใส่ ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งยังมีส่วนในการสร้างเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของท้องถิ่นและยังเป็นการช่วยสืบทอดอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ให้หายไป

หม้อห้อมที่เมืองลาว

หม้อห้อมที่เมืองลาว

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปอยู่เวียงจันทน์ ๑๐ วัน ไปกับคน semeo-spafa ร่วมสัมมนากับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่มาจาก ๑๑ ประเทศ เพื่อเล่าเรื่องการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ทำกัน ก็เลยถือโอกาสไปตามดูว่าป่าห้อมที่เมืองลาวเป็นอย่างไรบ้าง จึงได้ภาพถ่ายมาอวดคนเมืองแพร่ ว่าถ้าจะส่งเสริมการปลูกห้อมในป่าน่าจะทำอย่างไร
หมู่บ้านที่ไปดูอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ประมาณ ๒๐๐ กม. สำหรับสภาพถนนแบบนั้น กะกันว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง แต่ข้าพเจ้าไปขึ้นรถโดยสารที่ท่ารถสีไค เวลาประมาณ ๙ โมง ต่อรถอีต้อกที่เมืองเฟือง ไปลงที่ท่าน้ำ รอเรือข้ามน้ำหลีก ไปหาบ้านนาแซง ถึงประมาณ บ่าย ๒ โมง รวมเวลาเดินทาง รอผู้โดยสารขึ้นรถ รอผู้โดยสารซื้อของ รอรถโดยสารอีกคันเอากระเป๋าผู้โดยสารอีกคนมาส่ง และรวมเวลานั่งกินเฝอรอต่อรถอีต็อก กลายเป็นเวลาทั้งหมด ๕ ชั่วโมง ก็นับว่าไม่เลว
นั่งพักสักครู่ ก็ขอให้พ่อ-แม่บุญตาพาไปชมต้นห้อม สองสามีภรรยาที่มีลูกชายคนโตชื่อบุญตา ก็พาเดินเข้าห้วยไปดูพื้นที่ที่ชาวบ้านปลูกต้นห้อมไว้ ข้าพเจ้าโชคดีที่ใส่รองเท้าฟองน้ำ กางเกงขากว้าง ก็เลยลุยได้สบาย
บ้านนาแซงเป็นหมู่บ้านที่มีลำห้วยกว่า ๒๐ สาย แทบทุกห้วย ชาวบ้านปลูกห้อมไว้เพื่อใช้ย้อม และระดมปลูกมากขึ้นเพื่อตัดใบขายให้กับคนย้อมห้อมในนครหลวงเวียงจันทน์ส่งเป็นน้ำห้อมด้วย เป็นใบด้วย ซึ่งต่อมาข้าพเจ้าได้มีโอกาสถามคนที่ซื้อว่า ซื้อเฉพาะน้ำไม่ได้หรือ เพราะการขนส่งใบนั้นชาวบ้านไม่ได้อะไรเหลือเลย เป็นค่าขนส่งไปหมด เธอก็ตอบว่า สูตรหม้อห้อมของชาวลาวนั้น ต้องผสมน้ำห้อมสดด้วย และ เธอก็ให้ชาวบ้านเป็นผู้กำหนดราคาเองแล้ว ชาวบ้านมีสิทธิที่จะขอขึ้นราคาตามความเหมาะสม
ต้นห้อมชอบที่ชุ่มชื้น ต้นห้อมจะตายหรือขึ้นไม่งามในที่ชุ่มแฉะเกินหรือแห้งแล้งเกิน ชาวบ้านนาแซงปลูกห้อมตามชายน้ำ ปักกิ่งชำไว้ใต้ร่มรำไรของเหล่าต้นไม้เหล่าต้นกล้วยป่า ถ้ารกมาก ก็ถางหญ้าเอาหญ้าช่วย บางที่ก็แคบยาวไปตามลำน้ำ บางที่ก็เป็นเวิ้งกว้างเข้าไป ตามพื้นที่ ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงสภาพในลำห้วย ของบ้านนาตองก่อนน้ำป่าหลาก